fbpx

หวังว่าจะสนุกกับบทความหรือ Podcast ตอนนี้นะครับ ถ้าชอบฟังหนังสือเสียงที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา และพลังงาน คลิกที่นี่ เพื่อ Download แอป OHMPIANG ได้เลยครับ


นักอุตุนิยมวิทยาโบราณ VS ตำรวจจราจร

เมื่อต้นเดือน Netflix จัดหนังเรื่องโปรดของผมเข้าให้อีกเรื่องนึง

จนบางครั้งผมคิดว่า ศัตรูอันดับหนึ่งของความสำเร็จไม่ใช่ทัศนคติแย่ๆ ไม่ใช่การผลัดวันประกันพรุ่ง ไม่ใช่อะไรเลย แต่เป็น Netflix เนี่ยแหละ ชอบเหลือเกินเอาหนังดีๆมาล่อในเดือนที่งานเยอะๆ (ถามว่า ดูไหม? ดูดิ 555)

หนังเรื่องที่ผมพูดถึงคือ The Day After Tomorrow เป็นเรื่องเกี่ยวกับวันสิ้นโลก น้ำแข็งละลาย น้ำท่วมโลก พายุหิมะเข้าฉับพลัน ครอบครัวพลัดพรากจากกัน จนต้องเดินเท้าฝ่าหิมะเพื่อมาหาลูก

Credit รูปภาพ 20th Century Fox / Business Insider

ผมจำเหตุผลไม่ได้ว่าทำไมชอบหนังเรื่องนี้ แต่เจอกี่ครั้งก็ต้องหยุดดู และก็มีฉากนึงที่หงุดหงิดทุกครั้งเวลาดู ที่หงุดหงิดไม่ใช่เพราะอะไร เพราะมันเป็นฉากที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตบ่อยมากในทุกๆด้านของชีวิต โดยเฉพาะการทำธุรกิจ และการตลาด

ฉากนั้นคือ ฉากตอนที่พระเอกกับคนจำนวนหนึ่งวิ่งหนีน้ำเข้าไปติดอยู่ในห้องสมุดกลาง และมีคนตื่นขึ้นมาพบว่า ข้างนอกเต็มไปด้วยหิมะหนา พร้อมกับเห็นคนจำนวนมากออกมาเดินเพื่อหนีไปยังที่ๆพวกเขาคิดว่าปลอดภัย เลยวิ่งเข้าไปบอกทุกคนถึงสิ่งที่เขาเห็น

คนข้างในได้ยินดังนั้น ด้วยความตกใจ สติไม่อยู่กับเนื้อกับตัว และทำตัวไม่ถูก เลยหันไปหาคนที่พวกเขาคิดว่าน่าจะเป็น “ผู้นำ” ในตอนนั้นนั่นคือ ตำรวจจราจร

ซึ่งแน่นอน หลังจากการประมวลผลอย่างรวดเร็ว ทั้งน้ำเอย หิมะเอย อาหารเอย ความหนาวเอย แถมมีคนนึงบอกว่า ทางใต้ยังอุ่นอยู่ การอพยพเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ตำรวจคนนี้จึงประกาศให้ทุกคนเก็บของ

เราจะเดินลุยหิมะออกไปยังที่ปลอดภัยก่อนที่หิมะจะสูงกว่านี้ ดีกว่าอยู่ตรงนี้แล้วรอวันตาย

ทีนี้พระเอกที่บังเอิญเป็นลูกชายของนักอุตุนิยมวิทยาโบราณที่ออกมาเตือนชาวบ้าน รวมไปถึงรองประธานาธิปดีที่บอกว่าคำเตือนของเขาไร้สาระตอนต้นเรื่อง ก็อยู่ไม่สุขละ

เพราะพ่อเขาเตือนว่า ให้หลบอยู่ในที่กำบัง อย่าออกไปข้างนอกเด็ดขาด

เขารีบวิ่งไปหาตำรวจคนนั้นเพื่อบอกว่า “อย่าออกไปนะ พวกมึงจะหนาวตาย อย่าาา”

ตำรวจหันกลับมาบอกว่า “ไอ้หนู… ทุกคนกลัวเหมือนกัน แต่มันไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว Facebook ก็ปรับ เศรษฐกิจก็ไม่ดี เพราะงั้นเราต้องทำเหมือนที่คนอื่นทำกัน เราต้องหนีไปในที่ๆคิดว่าน่าจะปลอดภัย” (แฮ่… มันอดไม่ได้จริงๆ)

“ไม่ใช่อย่างนั้น (สึส) ถ้าออกไปพวกคุณจะหนาวตาย!”

แล้วบรรยากาศของทุกคนที่กำลังจะเดินออกไปก็ประมาณว่า… พูดอะไรอ่ะ

via GIPHY

“พ่อผมเป็นนักอุตุนิยมวิทยา เขาทำงานให้รัฐบาล เขาบอกให้อยู่ข้างใน ทำตัวให้อุ่น และรอพายุสงบ”

“แต่พวกกูจะหิว!”

ไม่ขนาดนั้นหรอก แต่ความกลัวอดตายเป็นเหตุผลสุดท้ายที่ตำรวจให้ไว้ก่อนต้อนผู้คนออกเดินทาง

สุดท้ายคน 90% ก็ตัดสินใจตามตำรวจจราจรไป และเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ (ผมว่า) เกือบทุกคนที่ออกไปก็ไปนอนแข็งตายกลางทางเพราะพายุหิมะแรงขึ้นเรื่อยๆ

ครั้งนี้แทนที่จะหงุดหงิดอย่างเดียว ผมดึงสติมาลองวิเคราะห์ดูว่า

เหตุใดคน 90% ถึงยอมตามตำรวจจราจรผู้นั้นออกไป ทั้งๆที่นักอุตุนิยมวิทยาที่ทำงานให้รัฐบาลน่าจะมีภาษีดีกว่าหลายขุม?

คิดยังไงก็ไม่พ้น 2 ข้อใหญ่ๆนี้

ข้อแรกเลยที่คิดได้ เพราะตำรวจในเครื่องแบบมี Authority


มันเป็นสัญชาติญาณของมนุษย์อยู่แล้วที่เมื่อเกิดเหตุอะไรขึ้นที่นอกเหนือการควบคุม จะมองหาที่พึ่งพาทันที และในเคสนี้คือ พี่ตำรวจจราจร ที่อยู่ๆก็ต้องลุกขึ้นเป็นผู้นำจำเป็น เพราะในความรู้สึกของคนส่วนใหญ่แล้ว เขาคือผู้ที่ถึงพาได้ในยามคับขัน มันเป็น Authority ของเขา

อธิบายให้เห็นภาพง่ายขึ้น มันคล้ายๆกับ คิดจะพัก คิดถึง Kitkat

ข้อสอง มนุษย์เป็นสัตว์สังคม


จากคำกล่าวของอริสโตเติล “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ตามธรรมชาติแล้วต้องมีชีวิตร่วมกับบุคคลอื่นๆ พึ่งพาอาศัยกัน”

สังคม (ในที่นี้คือ ที่ๆมีคนเยอะๆ) = ปลอดภัย

ลองสังเกตดูว่า ร้านไหนคนเยอะ ก็จะมีคนเดินเข้าเรื่อยๆ ในขณะที่ร้านที่ขายของชิ้นเดียวกัน แต่ถ้ามีคนในร้านน้อย หรือไม่มีคน ก็จะแทบไม่มีใครเดินเข้าไปเลย

เคสนี้เพราะมีคนจำนวนมากออกมาเดินอพยพกัน สัญชาติญาณของสัตว์สังคมจึงตะโกนบอกว่า “เฮ้ย… มันโอเคนะ เพราะคนส่วนใหญ่เขาก็ทำกัน”

โอเคเลยเจษ พี่ Get ละ ถ้าวันนึงพี่ติดในห้องสมุดท่ามกลางวันสิ้นโลก แล้วมีหิมะตก กรูจะไม่เดินออกไป

เยี่ยมเลยพี่!

via GIPHY

แต่จะดีกว่าไหมถ้าจะเอาไปใช้ในด้านอื่นๆของชีวิตด้วย? เพราะเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยมาก

เคสนี้ตำรวจจราจรผิดไหม?

ผมว่าไม่นะ เขาแค่ทำในสิ่งที่เขาคิดว่าดีที่สุด ณ เวลานั้น

แล้วใครผิด?

ไม่มีไง แต่ทุกการตัดสินใจย่อมเกิดผลที่ตามมา

ในธุรกิจก็เช่นกัน ก่อนจะตัดสินใจทำอะไร อย่าดูแค่คนไหนเสียงดัง คนไหนมี Authority หรือตัดสินใจด้วยแค่ ก็คนส่วนใหญ่เขาทำกันแบบนี้

ท่านต้องตัดสินใจบนพื้นฐานที่ว่า

  1. จริงๆแล้วท่านต้องการผลลัพธ์แบบไหน?
  2. ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ท่านยอมรับได้ไหม?

แล้วพบกันบทความหน้าครับ

OHMPIANG

เจษ


แชร์ให้คนที่คุณรัก:


{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}
>