fbpx

หวังว่าจะสนุกกับบทความหรือ Podcast ตอนนี้นะครับ ถ้าชอบฟังหนังสือเสียงที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา และพลังงาน คลิกที่นี่ เพื่อ Download แอป OHMPIANG ได้เลยครับ


ความแตกต่างระหว่าง Copywriting และ Content Marketing

Content Marketing vs copywriting

Content Marketing มันแตกต่างกับ Copywriting ตรงไหน?

อีกหนึ่งคำถามที่ผมได้รับบ่อยที่สุด ซึ่งเอาจริงๆนะ สำหรับผมมันไม่ได้แตกต่างอะไรกันมากหรอก ทั้งเรื่องเทคนิคการเขียน ทั้งเรื่องของโครงสร้าง และการโปรโมท

  • Content Marketing ต้องมีหัวข้อที่ดี ที่ทรงพลัง กลุ่มเป้าหมายจะได้สนใจ
  • Copywriting ก็ต้องมี
  • Content Marketing ต้องมีประโยคเปิดที่ดีน่าสนใจ
  • Copywriting ก็ต้องมี
  • Content Marketing ทำเพื่อต้องการให้กลุ่มเป้าหมายอ่านจนจบ
  • Copywriting ก็ต้องการ
  • Copywriting ก็ทำเงินได้
  • Content Marketing ทำเงินได้
  • คนทำ Content Marketing ต้องการลูกค้า ต้องการให้มีคนรู้จัก
  • คนเขียน Copywriting ก็ต้องการ

แล้วมันแตกต่างกันตรงไหนอ่ะ?

ความเห็นของผมนะ… สิ่งเดียวที่แตกต่างคือ จุดประสงค์ในการเขียนมากกว่า ซึ่งตรงนี้ผมเคยอธิบายคร่าวๆไว้แล้วว่า Copywriting ต่างจาก Content ทั่วๆไปยังไง

(ท่านสามารถตามไปอ่านได้ในบทความ : Copywriting คือ อะไร?)

และเพื่อให้ท่านเห็นภาพชัดระดับ 4K ขึ้นไปอีกเลเวลหนึ่ง เรามาย้อนกลับไปช่วงยุคกลางในสมัยที่ดาบเอ็กซ์คาลิเบอร์ยังปักอยู่ในหิน แกนดัลฟ์ยังสอนเมอร์ลิน และการสู้รบของอัศวินยังเป็นที่กล่าวขานกัน

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อหลายวันก่อนผมเปิด Netflix (ศัตรูอันดับ 1 ของความสำเร็จและการนอน) ดู The Dark Knight (หนึ่งในหนังเรื่องโปรดที่ดูกี่ทีก็ระทึก) และทุกครั้งที่เห็น Joker ก็อดคิดถึงและเสียดาย Heath Ledger ไม่ได้ เพราะตามดูทุกเรื่องและชอบเกือบทุกเรื่อง

หนังที่ Heath Ledger เล่นเป็นพระเอกและผมชอบมากที่สุดคือ The Knights Tale ซึ่งเป็นเรื่องราวของอัศวินฝึกหัดที่อัศวินเจ้านายตายกระทันหัน เลยสวมรอยซะเลย จากนั้นก็ฝึกฝน ลงแข่งขันไต่เต้าขึ้นไปเพื่อพิชิตสาวงาม, เงินรางวัล และชื่อเสียง

(ผมกำลังจะเข้าเรื่องละ)

ทีนี้การแข่งขันที่พระเอกเลือกจะลงแข่งและต้องการจะชนะเลิศให้ได้มากที่สุดคือ การประลองยุทธ์บนหลังม้า (Jousting)

Content Marketing VS Copywriting

ก่อนการแข่งขันจะเริ่มต้นขึ้นมีธรรมเนียมสำคัญนั่นคือ การแนะนำให้ผู้ชมได้รู้จักกับอัศวินที่เข้าแข่งขัน โดยตรงนี้แหละคือสีสันอีกอันหนึ่งนอกจากการขี่ม้าเข้าหากันด้วยความเร็วสูง พร้อมหอกยาวเอาไว้ทิ่มแทงคู่ต่อสู้

แน่นอนว่า อัศวิน (ผู้เข้าแข่งขัน) แต่ละฝ่ายไม่ได้เป็นคนแนะนำตัวเอง เพราะถ้าทำแบบนั้นมันคงจะแปลกมาก ลองนึกภาพดูสิ

“ข้าคือ เซอร์รอดริก ณ บางบอน ที่ 5 ลูกของเซอร์โรเบิร์ต ณ บางบอนที่ 4 หลานเขยของลอร์ดราสเบอรี่ ณ บางบอนที่ 3 อัศวินจากทุ่งภาคตะวันออกผู้เก่งกล้าสามารถ…”

มันแปลกๆเนอะ

ดังนั้นการแนะนำผู้เข้าแข่งขันนี้เป็นหน้าที่หลักของข้ารับใช้ของอัศวินซึ่งปกติแล้วจะเน้นไปที่ความทางการเพื่อให้สมเกียรติเจ้านายมากที่สุด เช่น

“ท่านใต้เท้า และท่านนายหญิงที่เคารพ…
ข้าน้อยขอแนะนำอัศวินผู้ทรงเกียรติ ผู้กล้าหาญ เต็มไปด้วยคุณธรรม
ท่านเป็นบุตรชายคนโตของเซอร์โรเบิร์ต ผู้ต่อสู้อย่างกล้าหาญในสงครามเมื่อปี….
เป็นหลานชายคนที่ 13 ของลอร์ดราสเบอรี่ ผู้ครองแคว้น…
เป็นอัศวินผู้ยึดมั่นถือมั่นในเกียรติและศักดิศรีของอัศวินอย่างหาใครเทียบไม่ได้
ขอแนะนำให้ท่านได้รู้จักกับ เซอร์รอดริก ณ บางบอน ที่ 5 ณ บัดนี้”

สิ้นคำแนะนำก็จะได้ยินเสียงตบมือเปาะแปะตามเรื่องราว

ถามว่ามันโอเคไหม? มันโอเคมาก ครบถ้วน สมเกียรติเจ้านาย

แต่ถามว่าน่าสนใจไหม? คำตอบคือไม่ เพราะคนส่วนใหญ่รอฉาก Action มากกว่าและอะไรที่มันดูซ้ำๆ เดิมๆ ต่อให้ใช้คำพูดใหม่ๆ มันก็เหมือนกันหมดอยู่ดี เพราะคนดูได้ตัดสินไปก่อนหน้าที่จะอ้าปากเรียบร้อยแล้ว

เช่นเดียวกับกีฬาสมัยปัจจุบัน แฟนคลับเป็นอะไรที่สำคัญมากทั้งในแง่ของกำลังและชื่อเสียง ดังนั้นทุกคนต้องการแฟนคลับของตัวเอง แต่ด้วยความยึดติดความเป็นทางการขนาดนั้น ช่วงที่สำคัญที่สุดอย่างแนะนำตัวแทนที่จะเป็นช่วงโกยกลับกลายเป็นช่วงเวลาที่น่าเบื่อ

โชคดีที่พระเอกของเราไปช่วยกวีคนหนึ่งที่เล่นพนันจนหมดตัวไม่เหลือแม้แต่เสื้อผ้าติดตัวเอาไว้ตอนต้นเรื่อง และกวีคนนี้ก็ติดตามคอยช่วยเหลือ เจรจา สนับสนุนพระเอกของเรา แถมสอนวิชาจีบสาวด้วย สารพัดประโยชน์มาก

พอมาถึงครั้งแรกที่พระเอกลงแข่ง กวีคนนี้ก็เดินออกไปกลางลานประลองเพื่อแนะนำพระเอกของเราให้คนดูได้รู้จัก และนี่คือสิ่งที่เขาพูด

“ท่านใต้เท้า ท่านนายหญิง รวมไปถึงทุกๆคน ณ ที่แห่งหนนี้ ที่ไม่ได้นั่งอยู่บนเบาะนุ่มๆทุกท่าน!! (ฝูงชนเฮ)

วันนี้ครับ… วันนี้ ทุกคนในที่แห่งนี้เท่าเทียมกัน (ฝูงชนเฮอีกที)

ทุกคนได้รับพรจากพระเจ้ามาเท่าๆกัน และกระผมก็มีความภูมิใจ มีความปลื้มปีติ ไม่สิมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะแนะนำให้ท่านได้รู้จักกับอัศวินท่านหนึ่ง

อัศวินที่สืบเชื้อสายมาจากอัศวิน

อัศวินผู้ทรงเกียรติที่มีต้นตระกูลยาวไปตั้งแต่ก่อนรัชสมัยของพระเจ้าชาร์เลอมังก์

ครั้งแรกที่ผมได้พบกับอัศวินท่านนี้ เขานั่งคุกเข่าอยู่บนยอดของภูเขาใกล้กรุงเยรูซาเล็ม กำลังสวดภาวนาวอนขอการอภัยบาปจากพระผู้เป็นเจ้า ต่อความผิดที่เขาได้หลั่งเลือดของพวกซาราเซ็นด้วยคมดาบของเขา

จากนั้น… ที่อิตาลีเขาทำให้ผมต้องทึ่ง เมื่อเขายื่นมือเข้าไปช่วยหญิงงามกำพร้าพ่อที่กำลังจะถูกพ่อเลี้ยงโฉดชาวตุรกีล่วงละเมิดอย่างโหดร้ายทารุณ (ฝูงชนโห่)

ที่ประเทศกรีซ เขาเลือกปิดวาจาอยู่ในถ้ำ และอยู่กับความเงียบเป็นเวลานานนับปี เพียงแค่ต้องการจะเข้าใจ เสียงกระซิบ ให้มันถ่องแท้มากขึ้น

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาของทุกท่านมากไปกว่านี้

ขอแนะนำ บุรุษผู้แสวงหาความสงบอันเป็นนิรันดร์

อัศวินผู้ปกป้องพรหมจรรย์ของสาวอิตาเลียน

นักรบแห่งแสงสว่างประจำตัวองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา

หนึ่งเดียวเท่านั้นในใต้หล้า

เซอร์อุลริค วอน ลิคเทนสไตนนนนนนนนนนนน์”

มันคือการแนะนำเหมือนกัน แต่ความแตกต่างของทั้ง 2 การแนะนำนี้อยู่ที่

การแนะนำตัวอัศวินแบบแรก… ทำเพื่อแจ้งให้ทราบ

ส่วนการแนะนำตัวอัศวินแบบที่สอง… ทำเพื่อชนะใจคนดู (กลุ่มเป้าหมาย)

คำถามสำคัญตอนนี้คือ สิ่งที่ท่านเขียนตอนนี้เป็นแบบแรกหรือแบบที่สอง และท่านต้องการปฏิกริยาแบบไหนจากกลุ่มเป้าหมายของท่าน?

อ้อ… ลืมบอกไปว่า สำหรับผมแล้วการแนะนำตัวแบบที่สองคือ Copywriting (ความเห็นส่วนตัวล้วนๆ)

ส่วนเหตุผลว่าทำไมผมถึงคิดว่าเป็นแบบนั้น มีองค์ประกอบอะไรบ้าง ถึงเรียกว่าเป็น Copywriting? ผมจะมาวิเคราะห์ให้ดูในบทความหน้า

แล้วพบกันครับ

OHMPIANG
เจษ

ปล. แปะฉากการแนะนำที่ว่าให้ (นาทีที่ 0.31)


แชร์ให้คนที่คุณรัก:


  • {"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}
    >