บทความ (คู่มือ) นี้ถูกเขียนขึ้นจากประสบการณ์เฉพาะตัว 8 ปีของการตีพิมพ์หนังสือของตัวเอง (Self-Publishing) เขียนเพื่อผู้ที่สนใจอยากรู้กระบวนการ เขียนเพื่อเป็นแรงบันดาลใจ และเขียนเพื่อคนมีความฝันว่าชีวิตนี้อยากเขียนหนังสือของตัวเองสักเล่มก่อนจากโลกนี้ไป
(หมายเหตุ – คู่มือนี้อยู่ในซีรี่ย์ OHMPIANG SELF-PUBLISHING 101 มีด้วยกัน 4 ตอน)
คำนำจากธีระธรณ์ จิรธนัยโรจน์
(เจ้าของบทความ)
สวัสดีครับ ผมธีระธรณ์ จิรธนัยโรจน์ วันที่ผมนั่งเขียนบทความ (คู่มือ) ผมกำลังวางแผนแปลหนังสือเล่มใหม่ ซึ่งจะเป็นหนังสือเล่มที่ 17 ที่จะได้รับการตีพิมพ์ภายใต้ชื่อ OHMPIANG (วางแผนเปิดจองกลางปี 2024)
แต่ถ้านับรวมทั้งหมด รวมหนังสือที่ผมไปมีส่วนร่วมแปล รวมจดหมายรายเดือนที่ผมเขียน รวมหนังสือเสียงที่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่ม ตัวเลขจะอยู่ที่ราวๆ 50 เล่ม
ผมเริ่มพิมพ์หนังสือเล่มแรก Scientific Advertising เมื่อปี 2016 ตอนนี้ 2023 ผ่านมา 8 ปีเฉลี่ยปีละประมาณ 6 เล่มนิดๆ ก็น่าจะพอสร้างความน่าเชื่อถือและความสบายใจให้ท่านที่ฝันอยากตีพิมพ์หนังสือด้วยตัวเองได้บ้าง
ผมคิดว่าตัวเองเป็นคนที่ทำงานชิวๆมาตลอด แต่พอได้เห็นตัวเลขผลงานเฉลี่ยปีละ 6 เล่ม ตก 2 เดือนจะมีผลงานออกมา 1 เล่ม เราก็เป็นคนทำงานหนักพอใช้ได้นะเนี่ย
ผมหลงใหลการเขียนตรงนี้แหละ บางทีสมองน้อยๆของผมตกผลึกชีวิตไม่ทัน ต้องใช้การเขียนช่วยทบทวนอีกแรง ก็ต้องขออภัยผู้ติดตามที่โดนหลอกให้เข้าใจผิดคิดว่าผมทำงานสบายๆมีรายได้เข้าชิวๆไม่ต้องทำงานหนักอะไรด้วย ขออภัยที่ผมทำให้เข้าใจเช่นนั้น จากตัวเลขแล้วมันไม่ใช่เลย ผมทำงานหนักพอควรเลย หลังจากนี้ผมน่าจะต้องเปลี่ยนจุดขายพอสมควร
เกริ่นนำกันมาพอหอมปากหอมคอแล้ว ก่อนที่เราจะเข้าสู่เนื้อหากัน ผมอยาก Set tone เพื่อให้ท่านเตรียมตัว เตรียมใจ และป้องกันตัวเองจากความคาดหวังที่ทึกทักไปเองถูก
ลำดับที่ 1 บทความ (คู่มือ) นี้เป็นความตั้งใจตั้งแต่วันแรกที่ผมพิมพ์หนังสือเล่มแรก ว่าวันหนึ่งหากสิ่งที่ผมทำได้ผลและเรามีความสำเร็จในระดับหนึ่ง ผมจะทำคู่มือให้คนที่สนใจ เพราะผมเชื่อในเรื่องกฎการให้ กฎการรับ และกฎการจ่าย
ลำดับที่ 2 บทความ (คู่มือ) นี้ไม่ใช่คำเชื้อเชิญ การป้ายยา หรือการโฆษณาคอร์สสอนผลิตหนังสือ คอร์สเขียนหนังสือ หรือบริการรับเขียน รับตีพิมพ์หนังสือแต่อย่างใด ท่านสบายใจได้ ถึงผมจะเคยออกมาสอนเรื่องการเขียนโฆษณา (Copywriting) ผมไม่คิดว่าตัวเองสอนใครเขียนหนังสือหรือแปลหนังสือได้ ผมเคยคิดว่าตัวเองจะสนุกกับการเขียนให้คนอื่น แต่ไม่เลย… สิ่งที่ได้รับคือบทเรียนที่ดีมากๆ ส่วนเรื่องการรับพิมพ์หนังสือนั้น ไม่เคยอยู่ในหัว
ลำดับที่ 3 ผมไม่เคยมองว่าตัวเองเป็นนักเขียนหนังสือ และผมก็ไม่เคยมองว่าตัวเองเป็นนักแปล (อ้าว… แต่เอ็งเขียนหนังสือกับแปลหนังสือมาเท่าไหร่นะ 50 เล่ม) ก็ใช่ครับ… ผมเริ่มจากการเขียนโฆษณาเป็น Copywriter ถ้าจะให้ถูกคือ Direct Response Copywriter หนึ่งในไม่กี่คนที่ยังเหลืออยู่ เป็นเผ่าพันธุ์หายาก ตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่ และตั้งใจจะเป็น Copywriter ไปจนกว่าจะไม่อยากเป็น ผมยึดหลักการสำคัญของวิชาที่ว่า “คำพูดแต่ละคำมีพลังงานต่างกัน เมื่อนำมารวมกันในจังหวะ เวลา และพลังงานที่ถูกต้อง เรื่องมหัศจรรย์จะเกิดขึ้น” ดังนั้นถ้าท่านเคยอ่านหนังสือของผม ท่านไม่ได้อ่านหนังสือ ท่านอ่านคำโฆษณา ท่านอ่านโบรชัวร์ แต่มันไม่ใช่โฆษณาขายสินค้าหรืออะไรหรอก มันคือการโฆษณาขายชีวิตที่ดีขึ้นด้วยทุกตัวอักษรที่ร้อยเรียงกันเป็นหนังสือในมือของท่าน
ลำดับที่ 4 ผมไม่ได้จบสิ่งพิมพ์ หรือวารสาร ผมไม่เคยเรียนที่ไหน ทุกอย่างที่ท่านจะได้อ่านในบทความ (คู่มือ) นี้ มาจากประสบการณ์ตรงของผมล้วนๆ ถ้ามันขัดกับอะไรบางอย่างที่ท่านเคยเรียนมา ไม่ต้องคิดมาก เชื่อสิ่งที่ท่านเรียนมาไปเลยแล้วไปให้สุดทาง ทุกอย่างที่ผมทำตั้งแต่ต้นจนจบ ผมทำตาม Sense ทำตามใจ และทำตามความต้องการของตัวเอง แต่เหนือสิ่งอื่นใดผมไม่ลืมที่จะฟังความต้องการของผู้อ่านทุกคน (ทำตามหรือไม่ทำตามอีกเรื่องนึง)
ลำดับที่ 5 บทความ (คู่มือ) นี้จะเป็นแนวเล่าประสบการณ์รอบกองไฟ มันจะไม่ใช่คู่มือประเภท ขั้นแรกทำแบบนี้ ขั้นสองทำแบบนี้ เขียนต้องแบบนี้ มีเทคนิคแบบนี้ นั่งท่านี้ วางมือแบบนี้ หาไอเดียต้องแบบนี้ หาโรงพิมพ์ต้องแบบนี้ ทำการตลาดแบบนี้ ไม่เลย ห่างไกลโพ้นทะเล ผมไม่ชอบห้องเรียน แต่ผมชอบความโรแมนติคของการก่อกองไฟเล่าเรื่องตามป่าเขา ชายหาด และทะเลทราย
ภาพที่ผมจินตนาการตอนนี้คือ ภาพของกองคาราวานพ่อค้าที่เพิ่งกลับจากแดนไกล อีกไม่กี่ราตรีจะถึงที่หมาย ค่ำคืนนี้บรรยากาศช่างแสนดีเหมาะแก่การร่ำสุรา เวลาผ่านไปไม่กี่อึดใจผู้อาวุโสประจำกลุ่มเริ่มหน้าแดง ท่ามกลางความเวิ้งว้างของทะเลทราย สารพัดเรื่องราวจากประสบการณ์ก็พรั่งพรูออกมา
Set tone เรียบร้อย เรามาเริ่มกันเลยครับ
ถ้าจะเริ่มเพราะคิดว่ามีความรู้ อย่าเริ่ม แต่ถ้าเริ่มเพราะได้รับแรงบันดาลใจ ลุยให้สุดทาง
จากประสบการณ์ของผม “ความรู้” อย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะส่งให้ท่านทำอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อนได้ ไม่เพียงพอที่จะเป็นเชื้อเพลิงให้ท่านก้าวข้ามกรอบความเชื่อได้ และไม่เพียงพอที่จะพาท่านไปสู่ความสำเร็จได้
ผมไม่ได้พูดแบบไม่มีอะไรหนุนหลัง หนังสือแปลเล่มล่าสุดของผม Think and Grow Rich OHMPIANG Edition ช่วยสนับสนุนสิ่งที่ผมพูดได้เป็นอย่างดี เพราะในหนังสือบอกว่า “ความรู้ไม่ใช่พลัง ความรู้แค่มีศักยภาพที่จะเป็นพลัง สิ่งที่สำคัญคือไอเดียและแรงบันดาลใจ แต่ทั้ง 2 อย่างจะไม่มาถ้าไม่มีความรู้”
ผมเองมีประสบการณ์ด้านการแปลงานสัมมนา มีประสบการณ์ด้านงานแปลหนังสือ และมีประสบการณ์ด้านการพิมพ์หนังสือมาตั้งแต่ปี 2009 ผมมีความรู้ ผมมีประสบการณ์ ผมรู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง แต่กว่าจะได้เริ่มลงมือตีพิมพ์ของตัวเองจริงๆก็ปาเข้าไป 2016 เหตุผลเดียวครับ “ขาดแรงบันดาลใจ”
แต่รู้อะไรไหม “แรงบันดาลใจ” เนี่ยค่อนข้างเจ้าเล่ห์ มันมักจะมาตอนที่เราไม่พร้อมมากที่สุด เพราะผมค้นพบ “แรงบันดาลใจ” ในการตีพิมพ์หนังสือของตัวเองตอนผมหมดตัว
ผมมักจะเล่าให้ทุกคนฟังเสมอว่า ชีวิตผมเริ่มวันที่ตื่นมาแล้วพบว่าทั้งเนื้อทั้งตัวเหลือเงิน 3,500 บาทพร้อมหนี้บัตรเครดิตอีกเพียบ และทุกอย่างก็เริ่มตรงนั้น แต่เรื่องนี้เอาไว้คุยกันในบทความอื่น
ผมไม่รู้ว่าเรียกว่า “แรงบันดาลใจ” จะถูกไหม แต่มันคือบ่ายของวันธรรมดาวันหนึ่ง หลังจากที่เพื่อนสนิทรู้ข่าวว่าผมสิ้นเนื้อประดาตัวแล้วโทรมาบอกว่า “เฮ้ย บ่ายนี้ว่างไหม แม่กูเรียก” ผมบอก “ว่าง แม่มึงเรียกกูอะนะ” มันบอก “เออ กูเล่าให้แม่กูฟังว่ามึงหมดตัว 555 แม่บอกเด๋วแม่ดูดวงให้” ผมวางสายรีบพุ่งไปทันที เพราะยามวิกฤติไม่มีใครควรปฏิเสธการดูดวงจากคนที่เชื่อใจได้
มี 2 สิ่งที่ได้วันนั้นหลังจากคุยกับแม่เพื่อน
อย่างแรก ลูกต้องทำธุรกิจให้ปัญญาคน เอาสิ่งที่ตายไปแล้วกลับมาชุบชีวิต ใส่พลังชีวิตและพลังวิญญาณของลูกเข้าไป มันจะช่วยคนได้เยอะ ถึงเวลาจะรู้เอง นั่งสมาธิ ทำจิตนิ่งๆ จะมีคนมาบอกใบ้ว่าต้องทำอะไร
อย่างที่สองธุรกิจของลูก ตั้งชื่อด้วยตัว O นะ
ผมบอกเลยว่า ผมเป็นหนี้ชีวิตคุณแม่เพื่อนคนนี้มาก ใจผมสลายพอๆกับเพื่อนวันที่รู้ว่าแม่มันดีขึ้นแล้ว หมอบอกหายแล้วด้วยซ้ำ จากนั้นทรุดหนักฉับพลัน และเสียชีวิตหลังจากที่ทุกคนมีความหวังได้ไม่นาน ชีวิตมันไม่แน่นอน
ผมไม่รู้ว่าท่านนิยาม “แรงบันดาลใจ” แบบไหน ของผมอ่ะแบบนี้ ซึ่งมันเพียงพอมากๆแล้ว และหลังจากนั้นครึ่งปี ผมก็เปิดพรีออเดอร์หนังสือ Scientific Advertising
หนังสือ Scientific Advertising
“Doctor… I’m broke… Just letting you know.” ผมส่งข้อความไปหานักจิตบำบัดระดับโลกที่ผมเคยแปลงานสัมมนาให้และท่านก็เมตตาผมอยู่มาก (แปลว่า “ดอกเตอร์… ผมถังแตก… จึงเรียนมาเพื่อทราบ”)
ผมส่งไปไม่ได้คาดหวังอะไร แค่จู่ๆก็รู้สึกอยากส่งไปบอกเขา และเผื่อฟลุคเขาจะใช้พลังพิเศษบางอย่างช่วยฮีลหัวใจให้
“จำตอนที่เราเจอกันวันแรกแล้วไอบอกให้ยูเป็นนักการตลาดได้ไหม? ยูได้ทำอะไรกับคำแนะนำนี้บ้าง” ดอกเตอร์พิมพ์กลับมา (ภาษาอังกฤษนะ)
“ผมทำตามคำแนะนำ ผมไปเรียนกับ Jay Abraham และ Jay บอกว่า ถ้าอยากเป็นนักการตลาดที่เก่งเริ่มต้นต้องอ่าน Scientific Advertising อย่างน้อย 7 รอบและอ่านทบทวนบ่อยๆ เขาเองเริ่มแบบนั้น ตอนแรกเขาเป็นนักบัญชี” ผมตอบไป
“ถ้ายูทำตามคำแนะนำจริง แค่ถังแตกก็ไม่ใช่ปัญหาจริงไหม?” ดอกเตอร์ตอบกลับมา มันจริงเช่นนั้น มันก็แค่ถังแตก มันคือการตัดสินใจหรือการทำบางอย่างที่ผิดพลาดในอดีต ถังแตกแปลว่าเงินหมด ส่วนการตลาดที่ผมได้เรียนคือหารายได้ ถังแตกไม่ได้แปลว่า ผมสูญเสียความสามารถในการหารายได้ ก็ใช้สิ่งที่เรียนมาหาใหม่ สั้น กระชับ เรียบง่าย ได้ใจความ
ผมคิดได้ดังนั้นก็เริ่มสบายใจขึ้น และผมบอกท่านตรงนี้เลย แรงบันดาลใจหรือไอเดียปิ๊งแว๊บไม่มีวันมาหา หากจิตไม่นิ่ง เพราะหลังจากที่ผมเริ่มสบายใจ จิตเริ่มนิ่ง ผมได้รับแรงบันดาลใจที่สอง ที่ต่อยอดมาจากแรงบันดาลใจจากแม่เพื่อนสนิท
ความสำเร็จทางการตลาด การขาย และการเขียน Copywriting (ที่ตอนนั้นแทบไม่มีใครรู้จักว่าคืออะไร) ผมยกเครดิตให้หนังสือโบราณหลายเล่ม ซึ่งเกือบทั้งหมดผมแปลออกมาเรียบร้อยแล้ว แต่อันดับ 1 ในดวงใจเลยคือ Scientific Advertising ที่ผมยกเป็นหนังสือครู เป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง
ผมรู้จัก Direct Marketing และ Copywriting ก็เพราะหนังสือเล่มนี้ สามารถก้าวข้ามความเข้าใจผิดๆที่ทำให้ตัวเองไม่กล้าทำการตลาดได้เพราะคิดไปเองว่าตัวเองไม่มี “ความสร้างสรรค์ หรือ Creative” มากพอก็เพราะเล่มนี้ แจ้งเกิดลืมตาอ้าปากได้ไม่โดนไล่ออกจากงานขายก็เล่มนี้
ผมมั่นใจว่าในไทยไม่มีใครอ่านหนังสือ Scientific Advertising บ่อยเท่าผม ไม่มีใครสร้างผลลัพธ์จากความรู้ในหนังสือเล่มนี้ได้เท่าผม ไม่มีใครรู้ความลับของการตลาดโบราณในหนังสือเล่มนี้เท่าผม สาเหตุหลักๆเลย มันไม่น่าจะมีใคร “บ้า” พอจะวิ่งสวนกระแสไปเสี่ยงกับความรู้การตลาดโบราณเมื่อร้อยปีที่แล้ว สมัยที่วิทยุเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ในขณะที่การตลาดออนไลน์กำลังพุ่งทะยาน แต่ผมทำและมันได้ผล จนถึงทุกวันนี้มันก็ยังได้ผล
ตรงนี้เองที่ผมได้แรงบันดาลใจที่สอง “ทำไมเราไม่แปล Scientific Advertising ล่ะ?”
เห็นอะไรไหมครับ? ความรู้มี ประสบการณ์มี ความมั่นใจมี ทุกอย่างมีพร้อม แต่ถ้าไม่มีคำใบ้หรือสัญญาณให้เกิดแรงบันดาลใจ มันก็ไม่เกิดง่ายๆอยู่ดี ซึ่งตอนนี้ผมมีครบแล้ว เหลือแค่การลงมือทำ แต่คำถามสำคัญคือ?
“ทำอย่างไรให้หนังสือไม่น่าเบื่อเหมือนหนังสือในตลาด?”
อันนี้เป็นนิสัยส่วนตัว ผมไม่สามารถทำอะไรที่มันน่าเบื่อได้ ถ้าตอบตัวเองไม่ได้ว่าทำไปทำไม ทำแล้วได้อะไร และทำแบบไหนตัวเองถึงยอมรับได้ ผมจะไม่เริ่มทำ และมันก็เป็นข้ออ้างที่ดีมากๆให้ผมในหลายสิ่งอย่าง (ไม่ได้บอกว่าเป็นคุณสมบัติที่ดี บอกว่าเป็นคุณสมบัติส่วนตัว)
ผมจึงเริ่มกระบวนการคิด คิด และคิด
“เราจะทำหนังสือแบบไหนที่ไม่น่าเบื่อ ที่สามารถมอบคุณค่าให้คนอ่านได้จริง ที่คนอ่านสามารถนำไปลงมือทำได้เลย?”
โปรดติดตามตอนต่อไปใน >> “ขั้นตอน กระบวนการ ก่อนจะเป็นหนังสือของ OHMPIANG”