fbpx

หวังว่าจะสนุกกับบทความหรือ Podcast ตอนนี้นะครับ ถ้าชอบฟังหนังสือเสียงที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา และพลังงาน คลิกที่นี่ เพื่อ Download แอป OHMPIANG ได้เลยครับ


Part 2: ขั้นตอน กระบวนการ ก่อนจะเป็นหนังสือของ OHMPIANG



(หมายเหตุ – บทความนี้เป็นบทความที่ 2 ในซีรี่ย์ OHMPIANG SELF-PUBLISHING 101)

ท่านสามารถอ่านบทความที่ 1 ได้ที่ >> OHMPIANG SELF-PUBLISHING GUIDE 101


ความเดิมตอนที่แล้ว…

ผมได้รับแรงบันดาลใจที่ 2 ที่เป็นแรงบันดาลใจต่อยอดจากแรงบันดาลใจที่ 1 ที่ได้รับจากแม่เพื่อนสนิท แต่ติดที่คำถามสำคัญ “ผมไม่อยากทำหนังสือน่าเบื่อ… ผมอยากทำหนังสือที่ตัวเองสนุกที่ได้ทำ คนอ่านสนุกที่ได้อ่าน โดยมีของแถมคือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น”

ผมจึงเริ่มทำ Market Research ด้วยกลุ่มเป้าหมายคนเดียว… ตัวผมเอง

ถามว่าถูกต้องไหมเนี่ย เอ็งเรียกตัวเองว่าเป็นนักการตลาด ผมก็ไม่รู้ว่าถูกต้องไหม แต่ถ้าวันหนึ่งต้องสอนลูกหลาน ผมจะบอกให้ใช้วิธีที่ฉลาดกว่านั้น

ประเด็นสำคัญของเรื่องไม่ได้อยู่ที่ทำ Market Research แบบไหน ประเด็นสำคัญของเรื่องคือ ผมอยากทำให้มันไม่น่าเบื่อและผมมีแรงบันดาลใจในการทำ ต่อให้ผมไม่มีข้อมูลการตลาด ผมก็ทำอยู่ดี เพราะจนถึงตอนนี้ในฐานะนักการตลาด ผมไม่มีแม้แต่เศษเสี้ยวของความศรัทธาในการทำ Market Research เลย ถ้าข้อมูลนั้นไม่ได้มาจากกลุ่มเป้าหมายที่เคยจ่ายเงินให้ผมแล้ว

ผมไม่เชื่อในความถูกต้องข้อมูล ผมไม่เชื่อในกระบวนการเก็บข้อมูล ผมไม่เชื่อความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนที่ต้องทำทุกอย่างตอนนั้นเป็นผมเอง ผมรู้จุดอ่อนและจุดแข็งของตัวเองดี ที่สำคัญผมรู้ว่าถึงมีข้อมูลก็เท่านั้น ครั้งนี้ข้าจะทำตามใจให้สุดทาง

อย่าลืมนะ ผมกำลังจะแปลหนังสือการตลาดโบราณอายุเกิน 100 ปีที่คนเขียนไม่เป็นที่รู้จักในไทย พูดถึงความสำคัญของคูปองและการทำการตลาดข้าวโอ้ต ในโลกที่ทุกคนตื่นเต้นกับการทำการตลาดออนไลน์ จะให้ผมทำ Market Research แบบไหนดี

ตรงนี้แหละที่แรงบันดาลใจสำคัญกว่าความรู้ เพราะเซลล์ความรู้ทุกเซลล์ในร่างกายตะโกนเป็นเสียงเดียวกันว่า “ใครมันจะไปเสี่ยงเรียนรู้วิชาการตลาดตกยุค” ในขณะที่แรงบันดาลใจตอบว่า “แล้วไง?”

สรุปจบที่ Market Research กับตัวเอง มันเรียบง่ายและรวดเร็วมาก เพราะใช้คำถามแค่ 2 ข้อเท่านั้น

“คุณเจษครับ หนังสือที่คุณเจษชอบเป็นแบบไหน และหนังสือที่คุณเจษไม่ชอบเป็นแบบไหน?”

คำตอบของผมคือ “ผมไม่ชอบหนังสือที่ทุกหน้าต้องมีรูปภาพหรือรูปถ่ายคนเขียน…”

ดังนั้นหนังสือของเราต้องมีรูปภาพน้อยที่สุดถึงไม่มีเลย ตกแต่งตามขอบ ตามหัวข้อ ตอนเริ่มบทได้ แต่ถ้าต้องใส่รูปทุกๆ 3-5 หน้า ลืมไปได้เลย

ครั้งแรกที่โรงพิมพ์เห็นต้นฉบับ Scientific Advertising เขา Comment กลับมาเลย “ใส่รูปเถอะ หนังสือสมัยนี้ใส่รูปกันหมด มันสวยกว่า” ผมตอบไปว่า “ผมไม่ได้อยากทำหนังสือสวยให้คนเขียนดูดี ผมอยากทำหนังสือที่เป็นหนังสือ หนังสือที่ตัวเอกคือผู้อ่าน ไม่ใช่ผู้เขียน”


กว่าจะเป็นหนังสือของ OHMPIANG


เคยได้ยินที่เขาบอกๆกันไหมว่า “เขียนอ่ะง่ายที่สุด”

มันไม่จริง…

ทุกวันนี้ผมยังคิดอยู่เลยว่า ไม่ว่าจะเขียนหรือแปล มันไม่ง่าย มันคือความท้าทาย มันต้องใช้ความเพียรพยายาม และผมก็ดีใจมากที่ตัวเองยังรู้สึกแบบนั้น เพราะมันทำให้ผมไปต่อได้

ประสิทธิภาพการทำงานของผมอยู่ที่โดยเฉลี่ยแล้ววันหนึ่งผมจะแปลได้ 3,000 – 6,000 คำ (เขียนก็เช่นกัน) ถ้าอัดจริงๆ 10,000 คำไม่มีปัญหาเพราะทำบ่อยตอนต้องเร่งต้นฉบับ

หนังสือ 100 หน้าจะต้องเขียนประมาณ 15,000 – 20,000 คำ ถ้าอยากทำหนังสือ 500 หน้าก็ 100,000 คำ (ประมาณคร่าวๆ) ถ้าใส่รูปก็ไม่ต้องเขียนเยอะ ตรงนี้เป็นเหตุผลที่เขาชอบใช้รูปกันหรือเปล่า ผมก็ไม่แน่ใจ

จากตัวเลขที่ผมให้ นั่นแปลว่า ถ้าจะทำหนังสือ 200 หน้าสักเล่ม (40,000 คำ) น่าจะใช้เวลาเขียนประมาณ 12 วันใช่ไหม? ทางทฤษฎีแล้วใช่ ควรเป็นเช่นนั้น แต่ในทางปฏิบัติมันไม่ได้ง่ายแบบนั้น เพราะผมเองไม่ได้เขียนได้แบบนั้นทุกวัน คือถ้าแปลตรงตัวอะ ทำได้สบายมาก 20,000 คำต่อวันก็ชิว แต่ผมไม่อยากทำหนังสือแปลแบบนั้นไง

ผมเป็น Copywriter ก่อนเป็นนักเขียนและก่อนเป็นนักแปล ทุกตัวอักษรสำคัญหมด ทุกการจัดเรียงสำคัญหมด

ต่อไปนี้คือทุกอย่างที่ผมทำกว่าจะเป็นหนังสือของ OHMPIANG แต่ละเล่ม

ผมกล้ามองตาของผู้อ่านทุกคนและบอกเขาว่า “หนังสือทุกเล่มถ้าผมเขียนเองมาจากการกลั่นประสบการณ์ตรงของตัวเอง และถ้าเป็นหนังสือแปล ผมรับประกันว่าผมใช้ตัวเองเป็นหนูทดลองเพื่อพิสูจน์ว่ามันใช้ได้จริงให้ท่านแล้ว”

ยกตัวอย่าง ชุดการตลาดสร้างตำนาน ที่มี 3 เล่ม Scientific Advertising, Adams และ Tested Selling ผมทดสอบ เก็บผลลัพธ์ ทดสอบ เก็บผลลัพธ์อยู่หลายปี ทดสอบจนมั่นใจว่าวิชาการตลาดโบราณยังใช้ได้ผลในยุคสมัยใหม่ และจะใช้ได้ผลตลอดไป ผมเลยแปลและตีพิมพ์

ชุดการตลาดสร้างตำนาน

หนังสือ The Science of Getting Rich, As a man thinketh, The Richest Man in Babylon, The Power of Your Subconscious Mind และ Think and Grow Rich OHMPIANG Edition ก็เป็นหนังสือช่วยชีวิตที่ผมอ่านซ้ำไปซ้ำมาตอนวิกฤติ ผมเลยแปลและตีพิมพ์

มาถึงตรงนี้ผมบอกเลยว่าเสียดาย… เสียดายหนังสือแปลหลายเล่มในตลาดที่แปลเน้นแค่ความถูกต้องของคำศัพท์แต่ไม่เน้นความเข้าใจ ซึ่งตรงนี้เองกลายเป็นอีกหนึ่งอัตลักษณ์ของหนังสือที่ผมทำ ถ้าเล่มไหนไม่สร้างผลลัพธ์ ถ้าเล่มไหนผมไม่เข้าใจ ถ้าเล่มไหนผมย่อยออกมาเล่าให้เด็ก 5 ขวบฟังแล้วเข้าใจง่ายๆไม่ได้ ผมจะไม่แปล และผมจะไม่พิมพ์ ให้คนที่เขาเหมาะสมกว่าเป็นคนทำ

วันแรกที่เริ่มลงมือแปลหนังสือ Scientific Advertising แม้ว่าผมจะอ่านจบไปมากกว่า 30 รอบแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ผมไม่ได้เริ่มลงมือแปลทันที ผมอ่านทบทวนอีก 1 รอบจากนั้นไปนั่งสมาธิ

นั่งสมาธิเพื่อบอกกล่าวและขออนุญาตเจ้าของวิชา ผมไม่รู้หรอกว่าเขาจะได้ยินผมไหม แต่สิ่งหนึ่งเลยที่ครูบาอาจารย์ของผมเน้นมากคือ “ความกตัญญูต่อครูบาอาจารย์เจ้าของวิชา” ดังนั้นหนังสือทุกเล่มถ้าเป็นหนังสือแปล ผมจะตั้งจิตอธิษฐานบอกกล่าวขออนุญาตเจ้าของวิชาเสียก่อน เล่มไหนไม่ได้ทำจะมีเหตุการณ์แปลกๆให้เห็นเป็นสัญญาณ จนกว่าจะรู้ตัว

ผมเชื่อในเรื่องวิชา ผมเชื่อในเรื่องความกตัญญูต่อครูบาอาจารย์ ทุกอย่างที่ผมใช้มาตลอดล้วนเป็นวิชาของครูบาอาจารย์ ผมไม่เคยเห็นใครที่ไม่ให้เกียรติครูบาอาจารย์หรือผู้มีพระคุณทำอะไรได้นาน เดี๋ยวก็ต้องมีอันให้ล้มเลิก เดี๋ยวก็ต้องไปทำอย่างอื่น เดี๋ยวก็มีเรื่องให้ทำงานไม่ได้


Mindset และขั้นตอนการเขียน


เรื่อง Mindset การเขียนและการแปลที่มี ผมต้องให้เครดิตอัพไลน์ของผมแบบเต็มๆ

คำสอนที่พี่บัณฑิต อึ้งรังษีให้วันแรกที่ได้ร่วมงานกันยังคงชัดเจนในหัวใจทุกครั้งราวกับเพิ่งได้ยิน

“น้องต้องเขียนให้คนอ่านไม่ต้องแปลไทยเป็นไทย เขียนให้กระชับอย่ายืดเยื้อ คำสร้อย คำเชื่อม ตัดทิ้งได้ตัด มันน่าเบื่อ คนอ่านเขาไม่มีเวลากัน”

ขอบคุณคำสอนนี้จากหัวใจ ขอบคุณที่เปิดโอกาสนี้ให้ผม ผมได้รับอะไรมากมายจากคำสอนนี้ และขอส่งต่อให้ทุกคนที่คู่ควรได้เห็นคำสอนนี้

ทุกงานเขียนของผมทำตามคำสอนนี้แบบเคร่งครัดและมากกว่า เพราะผมต้องการเพิ่มความสนุกและความลึกซึ้งลงไปในผลงาน

เพื่อให้สนุก มันต้องไม่น่าเบื่อ รูปภาพเราตัดทิ้งไปแล้ว ลำดับต่อไปคือการจัดเรียงประโยค ผมคิดว่าประโยคยาวๆน่าเบื่อ มันเหมือนอาหารจานโตๆที่เต็มไปด้วยของอร่อย แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเอาของอร่อยมาผสมกัน…

มันไม่น่ากิน และเผลอๆ ไม่อร่อยไปเลย

หนังสือของ OHMPIANG ทุกเล่มเป็นของอร่อยอยู่แล้ว ผมแค่เอามาจัดเรียงให้ทานง่ายขึ้น แบบร้านอาหาร Michelin ที่เสิร์ฟอาหารเป็นคำเล็กๆ และเป็นลำดับ

ในแต่ละย่อหน้าของหนังสือ OHMPIANG จะพยายามให้อยู่ที่ 4-6 บรรทัด แต่ละประโยคจะพยายามไม่ให้ยาวเกินไป ยาวเกินไปคืออะไร? เอาอะไรมาวัดว่ายาวเกินไป? ผมไม่รู้ ผมตกภาษาไทย การใช้ไม้ยมก (ๆ) ผมยังต้องเปิด Google เช็คบ่อยๆ ผมใช้วิธีตัดช่องน้อยแต่พอตัว เอาตัวผมนี่แหละวัด

เมื่อผมเขียนหรือแปลเสร็จย่อหน้าหนึ่ง ผมจะอ่านออกเสียงเพื่อเช็คความไหลลื่นของการอ่านว่า ไหลลื่นไหม เป็นธรรมชาติไหม หุ่นยนต์ไปไหม สุดลมหายใจตรงไหน ผมเว้นวรรค ตรงไหนฟังแล้วดูจบประโยค ผมเว้นวรรค ตรงไหนฟังแล้วดูต้องเน้น ผมเว้นวรรค ไม่ก็ขึ้นบรรทัดใหม่ ไม่ก็ขึ้นย่อหน้าใหม่ไปเลย ทำเช่นนี้ทุกย่อหน้า ด้วยเหตุผลนี้เอง หนังสือทุกเล่มของ OHMPIANG ถึงได้รับคำชมว่า “อ่านง่าย เข้าใจง่าย ไม่ต้องแปลไทยเป็นไทย อ่านแล้วเหมือนมีคนมานั่งเล่าให้ฟังมากกว่า” บ่อยมาก

ผมภูมิใจ ทีมงานของผมก็ภูมิใจ เราน้อมรับและขอขอบคุณสำหรับทุกคำชม พวกเราทำงานกันหนักในกระบวนการนี้จริงๆ ที่สำคัญกระบวนการนี้ทำให้เราไม่ต้องเสียเงินจ้างบรรณาธิการเพิ่ม

และในส่วนที่ผมบอกว่าต้องการเพิ่มความลึกซึ้ง

ผมทำโดยการอ่านซ้ำทั้งย่อหน้าอีกครั้ง และเรียบเรียงใหม่โดยใส่ความเป็นตัวเอง ใส่อัตลักษณ์ของตัวเองลงไปด้วย พูดง่ายๆแปลไทยเป็นไทยให้ไปเลยในสไตล์ของผมเอง

ผมต้องการ Connect กับผู้อ่าน และวิธีนี้ช่วยให้ผม Connect กับผู้อ่านทุกคนได้เป็นอย่างดี ดูได้จากคำชมที่บอกว่า “มันไม่เหมือนอ่านหนังสือ มันเหมือนอ.เจษมานั่งเล่าอะไรดีๆให้ฟัง”

ถามว่าจริงๆแล้วมันต้องยุ่งยากขนาดนั้นไหม? ผมว่าไม่ต้องขนาดนั้นหรอก แต่ผมบอกตัวเองเสมอ เราไม่ใช่ผู้เล่นใหญ่ เราเป็นแค่ Self Publisher ตัวเล็กๆที่คำผิดคำเดียว หรือการอ่านแล้วติดๆขัดๆนิดเดียวก็ส่งผลต่อความพอใจของผู้อ่านแล้ว ดังนั้นเราต้องทุ่มเต็มที่เพื่อผู้อ่าน เพื่อความภูมิใจของตัวเอง และเพื่อให้เกียรติเจ้าของวิชาที่เราไปเอาของเขามาแปล

ตอนต่อไปผมจะพูดถึงเรื่อง ขั้นตอนสุดท้ายก่อนส่งโรงพิมพ์


แชร์ให้คนที่คุณรัก:


{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}
>