fbpx

หวังว่าจะสนุกกับบทความหรือ Podcast ตอนนี้นะครับ ถ้าชอบฟังหนังสือเสียงที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา และพลังงาน คลิกที่นี่ เพื่อ Download แอป OHMPIANG ได้เลยครับ


Copywriting คือ อะไร? พร้อมตัวอย่าง และแชร์ประสบการณ์เริ่มต้นการเป็น Freelance Copywriter

  • Home
  • /
  • Podcast
  • /
  • Copywriting
  • /
  • Copywriting คือ อะไร? พร้อมตัวอย่าง และแชร์ประสบการณ์เริ่มต้นการเป็น Freelance Copywriter
Copywriting คือ อะไร

Copywriting คือ อะไร?


เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่ผมได้รับคำถามนี้ คำถามยอดฮิตตลอดกาลที่ว่า Copywriting คืออะไร? ทำงานอะไร? ทำอะไรบ้าง? ไม่ก็คิดว่า Copywriting คืองานที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์ และการจับของผิดลิขสิทธิ์ หรืองานที่เกี่ยวกับตัว © (อันนั้นมัน Copyright)

มันก็ไม่ผิดอะนะ เพราะตอนแรกเริ่มเลยผมก็คิดแบบนั้นเหมือนกัน หลังๆเลยบอกไปว่าเป็นการเขียนโฆษณาเพื่อให้คนเข้าใจง่ายขึ้น หลังๆเริ่มมีคนช่วยนิยามว่า เขียนขาย, เขียนขายของ, เขียนเพื่อขาย ไปจนถึงสร้าง Content เพื่อขายของ สารพัดจะนิยาม ซึ่งมันก็ช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้นแหละ (มั้ง)

แต่สุดท้ายผมว่ามันเหมาะสมกว่าที่จะใช้คำว่า Copywriting ตามต้นทาง เพราะต่อให้แปลงไปเป็นอะไร เพื่อจุดประสงค์อะไร หรือเพื่อหลบอะไรก็ตาม มันก็กลับมาที่จุดเริ่มต้นอยู่ดีนั่นคือคำว่า Copywriting

และเพื่อเป็นเกียรติให้กับต้นทางของวิชานี้ รวมไปถึง Copywriter ทุกคนที่ทำงานนี้อยู่ ผมว่าถึงเวลาเหมาะสมแล้วที่จเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อตอบคำถาม ข้อสงสัย และความเข้าใจผิดไปในตัว

เรามาเริ่มกันที่… ความหมายของ Copywriting กัน

Copywriting คือวิชาว่าด้วยการเขียนคำโฆษณาที่ใช้ในการโปรโมทสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าคำโฆษณานั้นจะใช้ในเวบไซต์, Social Media, โบรชัวร์, บิลบอร์ด, E-Mail,
แคตตาล็อก, ใบปลิว, แผ่นพับ หรือแม้แต่สคริปต์ที่ใช้ในคลิปวิดีโอ และสปอตวิทยุ

สิ่งที่เขียนออกมาจะมีชื่อเรียกสั้นๆว่า Copy

เมื่อเขียนโฆษณาเสร็จแล้วจะเรียกงานชิ้นนั้นว่า 1 Copy

เมื่อถูกตามงานจะโดนถามว่า “Copy เสร็จยัง?”, “จะส่ง Copy ได้วันไหน?”

Copy มีอยู่ทุกที่ ทุกแห่งหน เหมือนอากาศที่ท่านหายใจ ลืมตาขึ้นมาหยิบมือถือขึ้นมาเปิดอ่านท่านก็เจอ Copy ละ เดินไปหยิบสินค้าขึ้นมาข้างกล่องก็เจอ Copy ละ

มันมีอยู่ทุกที่เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมโฆษณา 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐทั่วโลก

Copywriting คือ อะไร

ความแตกต่างระหว่าง Copywriting VS Content ทั่วไป


Copywriting แตกต่างกับ Content ทั่วไปตรงที่ Copywriting มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้อ่าน / ลูกค้า / กลุ่มเป้าหมาย ตัดสินใจลงมือทำอะไรบางอย่างเมื่ออ่านหรือฟังจบ ไม่ว่าจะเป็นติดต่อเข้ามาทางช่องทางที่กำหนด, โอนเงิน หรือหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาโทรหาเจ้าของโฆษณา

ในขณะที่ Content ทั่วไปส่วนใหญ่มีจุดประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเท่านั้น ไม่ได้มีอะไรต่อจากนั้น

นี่คือ เหตุผลว่าทำไม Copywriter ถึงมีฉายาว่า “นักขายบนสิ่งพิมพ์ (Salesman in Print)”

คนแรกที่นิยามคำนี้คือ John E. Kennedy ตำนานนักเขียนโฆษณาชาวแคนาดาที่มีชีวิตอยู่เมื่อ 100 ปีที่แล้ว

John E. Kennedy อยู่เบื้องหลังโฆษณาเงินล้านจำนวนมาก โฆษณาที่สร้างชื่อให้เขาและ Agency ที่เขาสังกัด คือ โฆษณาขายเครื่องซักผ้า ที่เขียนให้บริษัทขายเครื่องซักผ้าที่กำลังจะล้มละลาย

ภายในสัปดาห์แรก Copy ของเขาที่ลงในหนังสือพิมพ์มีคนตอบรับถึง 1,547 คน (จากที่แต่ก่อนแทบไม่มี ทั้งๆที่ใช้เงินถึง $15,000 ต่อปี)

ภายในเวลา 4 เดือน บริษัทขายเครื่องซักผ้าตัดสินใจเพิ่มงบโฆษณาเป็น 2 เท่า

ภายในเวลา 6 เดือน บริษัทนี้กลายเป็นผู้ซื้อโฆษณาใหญ่อันดับ 4 ของประเทศ

และภายใน 1 ปี บริษัทนี้เติบโตขึ้นกว่าเดิมถึง 3 เท่า ถึงขนาดต้องสร้างโรงงานผลิตใหม่เพื่อรองรับออเดอร์ที่หลั่งไหลเข้ามา อันเป็นผลลัพธ์จากแอดโฆษณานั้น

John E. Kennedy เขียนตำราขึ้นมาเล่มหนึ่งชื่อ Intensive Copywriting และตำราเล่มนั้นได้กลายเป็นหัวใจของ Agency โฆษณาน้อยใหญ่นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

ทุกวันนี้สิ่งที่อยู่ในตำราเล่มนั้นยังคงใช้ได้ผล และเป็นหนังสือแนะนำสำหรับใครก็ตามที่สนใจวิชาการเขียน Copywriting แบบเน้นผลลัพธ์จริงๆ

สรุปให้อีกครั้งแบบภาษาบ้านๆ ก่อนไปกันต่อว่า Copywriting คือ อะไร?

Copywriting คือศาสตร์และศิลป์ของการใช้คำพูดเพื่อขายสินค้าหรือบริการของท่านแก่ลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายของท่าน

คำพูดดีๆ ที่ถูกจังหวะและเวลา มีพลังในการโน้มน้าวให้ลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายตัดสินใจลงมือทำอะไรบางอย่างที่ท่านต้องการ

การเขียน Copy ดีๆ ไม่ต่างอะไรไปจากการจ้างนักขายเก่งๆคนหนึ่งไปคุยกับลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายทั้งหมดของท่าน แต่ความแตกต่างอย่างใหญ่หลวงของการใช้นักขายเก่งๆ และการใช้ Copy ดีๆคือ

นักขาย (และทีมนักขาย) สามารถคุยหรือติดต่อกับลูกค้าได้ทีละคนเท่านั้น ในขณะที่ Copy ดีๆ หรือ Copywriter เก่งๆ สามารถติดต่อลูกค้าจำนวนมากได้พร้อมกันผ่านป้ายโฆษณา, Salepage, แอดโฆษณาต่างๆ รวมไปถึงคลิปวิดีโอ สปอตวิทยุ และบทความ

คุณสมบัติสำหรับคนอยากการเขียน Copywriting


อีกหนึ่งคำถามที่พบบ่อยคือ…

การจะเขียน Copywriting ได้ต้อง

  • เขียนเก่ง
  • จบเฉพาะทาง
  • มีความคิดสร้างสรรค์ (Creative สูง)
  • เรียนสูงๆ
  • ผ่านคอร์สเรียนอลังการ

คำตอบคือ ไม่จำเป็นต้องมีอะไรข้างบนเลยแม้แต่น้อย

ถ้าวันนี้ท่านมี

  • Internet
  • Computer / Notebook
  • อ่านออกเขียนได้

พูดง่ายๆ ขอแค่มีปัญญาเขียนจดหมายถึงเพื่อนได้ และมีใจที่อยากจะเรียนรู้ ท่านก็สามารถเรียนเขียน Copy ได้แล้ว

ประเภทของ Copywriting


อันนี้ผมเคยเขียนเอาไว้ในกลุ่ม Copywriting Thailand ที่ผมกับพี่มารุต Copywriter สายตรงจาก David Ogilvy ช่วยกันสร้างขึ้น (ท่านสามารถเข้าไปร่วมกลุ่มได้)

โพสท์นั้นผมสรุป Copywriting ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆด้วยกัน

ประเภทแรกคือ Madison Avenue Copywriting

งานหลักคือ ใช้พลังสร้างสรรค์ในตัวเนรมิตคำพูดขึ้นมาให้คนสนใจ คำพูดสวยงาม

คำพูดที่อ่านหรือฟังแล้วติดหู ติดตา ติดใจ ติดสมอง เป็นผลจากการเขียน Copywriting ประเภทนี้ทั้งสิ้น

Medison Avenue Copywriting เน้นสื่อสารกับคนจำนวนมากเพื่อสร้าง Brand Awareness และตอกย้ำ Brand Value เป็นหลัก

ตัวอย่างคนทำงานด้านนี้คือ Copywriter ที่อยู่ตาม Ad Agency ต่างๆ

Direct response copywriter

ประเภทที่สองคือ Direct Response Copywriting

Copywriting ประเภทนี้จะโฟกัสไปที่การกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายลงมือทำบางอย่าง

โฟกัสไปที่พลังของปัจจุบัน (The Power of Now)

โฟกัสไปที่การโน้มน้าวให้คนอ่านตัดสินใจซื้อทันทีที่อ่าน / เห็น / ได้ยิน สารของเราจบ

Direct Response Copywriting เน้นสื่อสารกับคนจำนวนน้อย เพื่อสร้าง Moment ของการลงมือทำบางอย่าง และสร้างผลลัพธ์อย่างยอดขายเป็นหลัก

Direct Response Copywriter เป็นนักเขียนสายพันธุ์ที่หายาก และไม่ค่อยอยู่ตาม Agency เพราะคุยกับคนไม่ค่อยรู้เรื่อง

Direct Response Copywriter หากินกับค่า Commission เป็นหลัก หรือพูดง่ายๆ เพื่ออิสรภาพแล้วเราขอไม่รับเงินเดือน แต่ถ้า Copy ที่เขียนให้ขายได้ เราขอค่าคอมนะ

ตัวอย่างของคนที่ทำด้านนี้คือ ผมเอง ซึ่งก็ยังดิ้นรนปากกัดตีนถีบลองผิดลองถูกอยู่เช่นกัน

ถามว่าอะไรดีกว่ากันระหว่าง 2 อันนี้? ก็ต้องของผมดิ 555 (ล้อเล่นนะครับ)

ถ้าชอบความตื่นเต้น อารมณ์คว้าขวาน คว้ากระบอง คว้าธนูออกไปล่าเนื้อมาทำอาหาร ก็ Direct Response Copywriting

แต่ถ้ารักสงบต้องการทำฟาร์มเก็บกินกันนานๆ เพื่อความยั่งยืนก็ Medison Avenue Copywriting

แต่ทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะประเภทไหน Copywriter เป็นอาชีพที่หากินกับการใช้คำพูด

ประสบการณ์ Copywriting

แชร์ประสบการณ์ : เริ่มต้นเส้นทางเขียน Copywriting


ลืมแนะนำตัวไป ผมชื่อ ธีระธรณ์ จิรธนัยโรจน์ เรียกสั้นๆว่า เจษ ได้ครับ

ปัจจุบันผมหาเลี้ยงตัวเองกับครอบครัวด้วยการเป็น Direct Response Copywriter และนักแปลหนังสือ (อังกฤษ – ไทย)

ก่อนหน้าที่จะจับงานเขียนตรงนี้เต็มตัว ผมทำงานช่วยรุ่นพี่ในธุรกิจขายเครื่องจักรทางวิศวกรรม ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย และก่อนหน้านั้นก็เป็น IT Project Manager ตัวเล็กๆอยู่ในบริษัทข้ามชาติแห่งหนึ่ง

อ่านย่อหน้าข้างบนแล้ว อาจจะคิดว่า อ้าวแน่ล่ะสิ… ก็ขายของเก่งนี่ เป็นถึงผู้จัดการฝ่ายขาย

ก็ไม่เถียงหรอกครับ แต่อยากจะบอกว่า ผมใช้เวลาถึง 6 เดือนกว่าจะทำยอดแรกให้บริษัทได้ ซึ่งใน 6 เดือนนั้นไม่มีสักวันที่ไม่คิดจะลาออก (อยู่ไปก็อับอายขายขี้หน้า) เพราะไม่ว่าทำอีท่าไหนก็ขายของไม่ได้เสียที จะเทคนิคไหน จะไปอัพบุคลิกภาพยังไง จะเลียนแบบใคร มันก็ไม่ได้ยอดขาย ไม่ได้ผลลัพธ์เลย

จนกระทั่งวันหนึ่ง มันเป็นวันที่ผมหดหู่ที่สุดในสามโลก และนั่งเหี่ยวคอตกอยู่ในคอกของตัวเอง หูของผมไปได้ยินบทสนทนาของพี่ชัยวัฒน์ Sale Director ที่นานน๊านจะคุยกับลูกค้าสักทีนึง

สิ่งที่ผมได้ยินวันนั้นเปลี่ยน Mindset และวิธีการขายของผมไปตลอดกาล ซึ่งไม่ว่าผมจะเล่าให้ใครฟัง ผมก็จะบอกว่า ชีวิตการขายของผมเริ่มต้นจากตรงนั้น

ถ้าจะให้สรุปสิ่งที่ผมได้รับจากการแอบฟังวันนั้น ผมสรุปได้ในประโยคเดียวว่า

พี่ชัยวัฒน์คุยกับลูกค้า ไม่เหมือนคุยกับลูกค้าแม้แต่น้อย

เล่าเรื่องยาวให้สั้นเข้า… ผมทำตามทันที และหลังจากนั้นไม่ถึง 2 อาทิตย์ ผมก็ได้ PO (Purchasing Order) ใบแรกในชีวิต และ PO ใบนั้นช่วยให้ผมรอดพ้นจากการโดนไล่ออกอย่างอนาถ

แล้วมันเกี่ยวกับ Copywriting ยังไงใช่ไหม?


เกี่ยวอย่างมากครับ เพราะเรียนตามตรงผมรู้จักกับคำว่า Copywriting มาพักใหญ่ๆแล้ว แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เข้าใจสักทีว่ามันคืออะไร (Google ดูก็เห็นเงินเดือนอยู่ 12,000 – 15,000 บาท ยิ่งทำให้ไม่อยากสนใจเข้าไปอีก)

แต่พอได้ฟังบทสนทนาของพี่ชัยวัฒน์วันนั้น มันราวกับประตูเปิดออก และเข้าใจทุกอย่างได้เลย เพราะไม่เพียงแต่ผมจะเปลี่ยน Mindset เรื่องการขาย แต่ผมได้เรียนรู้เรื่อง

การใช้คำพูด

ซึ่งมันตรงกับ Concept ของ Copywriting ที่เน้นเรื่องการใช้คำพูดเป็นหลัก

นับตั้งแต่วันนั้น ผมเริ่มจริงจังกับวิชา Copywriting มากขึ้น พยายามเรียนรู้ด้วยการอ่านบทความ และเปิด Youtube ดู จนในที่สุดผมก็เริ่มทำยอดขายให้กับบริษัทของรุ่นพี่ได้จากการใช้ Copywriting และสามารถจับอาชีพนี้หาเลี้ยงตัวเองได้ในหลายปีหลังจากนั้น

ถ้าให้ผมสรุป แก่นแท้ในการเขียน Copywriting ในประโยคเดียว ผมจะสรุปว่า

มันคือการเลือกใช้คำพูดให้ถูกที่ ถูกทาง ถูกจังหวะ ถูกโอกาส และถูกคน

เพราะคำพูดแต่ละคำมีพลัง คำแต่ละคำเปรียบเสมือนเครื่องมือ และวิชา Copywriting คือการเรียนรู้ที่จะใช้เครื่องมือเหล่านั้นให้เป็น

freelance copywriter

งานแรกในฐานะ Freelance Copywriter เต็มเวลา


ความจริงผมไม่ได้เต็มใจจะออกมาเป็น ฟรีแลนซ์เต็มเวลา นะ เพราะแผนของผมคือ ผมจะทำควบคู่ไปกับงานประจำและธุรกิจเล็กๆที่เริ่มต้น จะออกทำไมอะ งานประจำรายได้ดี และงานฟรีแลนซ์รับจ้างเขียน Copywriting กับงานแปล ก็มาเรื่อยๆ

แต่ก็นะ… เราเลือกไม่ได้ว่าชีวิตจะพาเราไปทางไหน สุดท้ายผมโดนเหตุการณ์ต่างๆบีบให้ต้องออกมาเป็นฟรีแลนซ์เต็มเวลา งานประจำที่เคยมีและธุรกิจเล็กๆที่เริ่มต้นก็หายวับไปแบบงงๆ ด้วยการตัดสินใจผิดพลาดหลายประการ

งานแรกในฐานะ Freelance Copywriter เต็มเวลาได้มาเพราะวิชาการขายที่สั่งสมมา บวกกับวิชาการเขียน Copywriting

มันเป็นงานเขียน Copy เพื่อโปรโมทงานสัมมนาเล็กๆ งานหนึ่งที่จะจัดขึ้นในอีก 3 อาทิตย์หลังจากนั้น และผลลัพธ์ที่ได้ยังไม่ค่อยดีทั้งๆที่ทุ่มเงินค่าแอดโฆษณาไปเกือบหมดงบแล้ว

ผมเข้าไปจังหวะที่เขาอารมณ์ประมาณว่า ได้เท่าไหนก็เท่านั้น ขาดทุนก็คงต้องยอม และกำลังหมดไฟกับงานสายนี้

ผมรับงานมา แล้วขอใช้งบที่เหลือ เพราะไหนๆก็ไหนๆแล้ว แถมไม่ขอรับค่าจ้างด้วย ขอแค่ถ้ามันสำเร็จได้ตามเป้าจะให้เท่าไหร่ก็ให้ และแนะนำลูกค้าต่อให้ด้วย

เขาตอบตกลง และภายใน 1 อาทิตย์หลังจากนั้น สัมมนาของเขาก็มีคนเข้าจนเต็ม โดยที่ใช้เงินค่าแอดโฆษณาไปเพียง 2,000 บาทเท่านั้น

งานนั้นผมไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าปรับ หัวข้อโฆษณา (Headline) ของเขาใหม่ และปรับตัว Copy เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะเขาเตรียมทุกอย่างเอาไว้พร้อมมาก ขาดแค่หัวข้อดีๆ และคำพูดดีๆใน Copy

หัวข้อที่ผมเขียนให้เขาคือ


สงกรานต์ปีหน้า… จะไปเที่ยวแล้วกลับมาถังแตกแบบเดิม
หรือจะกลับมาแบบคนรวยรุ่นใหม่ที่มีทั้งเงินและอิสรภาพ


มันก็ไม่ได้เทพอะไรอะนะ และถ้าใช้ตอนนี้ก็คงไม่ได้ผลแล้ว เพราะพบเห็นได้เต็มไปหมดตามธุรกิจสัมมนา แต่ ณ ขณะนั้น มันได้ผล และได้ผลดีด้วย

สุดท้ายผมได้ค่าขนมมานิดหน่อย และลูกค้าคนนี้ก็บอกต่อเพื่อนของเขามาให้

ที่เหลือก็เป็นเรื่องของอดีตกาลนานมาแล้ว

เริ่มต้นเขียน Copywriting อย่างปลอดภัย ไร้กังวล


ผมยอมรับว่าผมมีคอร์สออนไลน์ซุกเอาไว้ในกระเป๋าสี่มิติ แต่ผมยังไม่แนะนำ…

อันที่จริงถ้าท่านยังใหม่มากๆ ผมไม่แนะนำให้เรียนคอร์สไหนเลยด้วยซ้ำ (ไม่ว่าจะเกี่ยวกับ Copywriting หรือแนวเขียนขาย) เพราะมีโอกาสสูงที่ท่านจะไม่ได้อะไรเลยนอกจากแรงฮึด

อีกอย่าง ผมเองก็ไม่ได้เริ่มจากการสมัครเรียนคอร์ส ผมเลยคิดว่ามันคงจะแปลกถ้าไปแนะนำในสิ่งที่ผมเองก็ไม่ได้ทำ

จุดเริ่มต้นการเรียนรู้ของผมบนเส้นทางนี้คือ หนังสือ ครับ

จากบรรดาบทความ และคลิป Youtube ทั้งหมดที่ผมอ่านและดู มีแนะนำหนังสือสำหรับคนที่ สนใจ Copywriting ไว้หลายเล่ม แต่หลักๆเลยจะมีด้วยกัน 3 เล่มด้วยกันสำหรับผู้เริ่มต้น

เล่มแรก หนังสือ Scientific Advertising เขียนโดย Claude C. Hopkins

หนังสือ Scientific Advertising

หนึ่งในหนังสือที่ David Ogilvy ราชาแห่งวงการโฆษณาบังคับให้พนักงานทุกคนอ่านอย่างน้อย 7 รอบก่อนเริ่มงาน

หนังสือเล่มนี้คือ หนังสือที่ Copywriter เก่งๆ นักการตลาดเก่งๆ รวมไปถึงระดับโลกทุกคนแนะนำ

เล่มที่สองคือ ADAMS : THE STORY OF SUCCESSFUL BUSINESSMAN

เรื่องราวการแก้ปัญหาธุรกิจยากๆของ Oliver Adams ด้วยวิธีง่ายๆที่คนส่วนใหญ่มองข้าม

Jack Trout ที่ปรึกษาด้านการตลาดระดับโลกบอกว่า

“นี่เป็นหนังสือการตลาดที่ดีที่สุดที่ผมเคยอ่านมา”

สำนักพิมพ์ระดับโลกอย่าง New York Times ออกมายกย่องหนังสือเล่มเล็กๆเล่มนี้ว่า

“ทุกคนที่ปรารถนาความมั่งคั่งจากการทำการตลาดและเขียนโฆษณาควรพกหนังสือเล่มนี้ติดตัวไว้ตลอดเวลา และมันคงไม่เป็นการพูดเกินเลยถ้าจะบอกว่า ทุกคนที่ต้องการความสำเร็จ ไม่ว่าจะในเรื่องไหนก็ตาม จะได้รับความช่วยเหลือจากความเรียบง่าย เฉียบคม และเทคนิคการแก้ปัญหาที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนที่อัดแน่นอยู่ในหนังสือเล่มเล็กๆ บางๆ เล่มนี้”

(หมายเหตุ : Adams คือหนังสือเล่มโปรดในดวงใจของผมเช่นกัน)

เล่มที่สาม Tested Selling : เดชคัมภีร์ลับ นักขายนอกตำรา

Dr. Joe Vitale นักการตลาดระดับโลก และหนึ่งในทีมงาน The Secret เขียนถึง Elmer Wheeler ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ว่า

“Elmer Wheeler ทำเงิน $5,000 จากคำแนะนำแค่ 9 คำ…
$5,000 จากคำแนะนำแค่ 9 คำเป็นตัวเลขที่มหาศาลถึงจะเป็นสมัยนี้ก็ตาม แต่ที่ลูกค้ายอมจ่ายเพราะ มันเป็นคำ 9 คำที่เพิ่มจำนวนผู้มุ่งหวังถึง 250,000 คนใน 1 สัปดาห์

เท่านั้นไม่พอ ยังมีเคสที่ Elmer Wheeler ช่วยเพิ่มยอดขายให้บริษัทผลิตครีมโกนหนวดถึง 300% ใน 1 สัปดาห์จากการ “เปลี่ยนคำแค่ไม่กี่คำ”

หนังสือเล่มนี้ช่วยต่อยอดสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากพี่ชัยวัฒน์ Sale Director ได้เป็นอย่างดี เพราะเน้นพูดถึง “พลังของคำพูด” พร้อมตัวอย่างที่สามารถนำไปใช้ได้เลย

ถ้าท่านไม่ติดอะไร ผมอยากแนะนำให้อ่าน Adams เป็นอันดับแรก ตามด้วย Scientific Advertising และ Tested Selling

เพราะจากที่คุยกับทุกคนที่อ่านหนังสือครบ 3 เล่มนี้ เกือบทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “โชคดีที่ได้รู้จัก Adams เพราะมันทำให้ชีวิตง่ายขึ้น และช่วยให้การอ่านอีก 2 เล่มที่เหลือง่ายขึ้นเช่นกัน”

ทั้ง 3 เล่มคือ หนังสือแนะนำสำหรับคนที่สนใจด้านการเขียนโฆษณา เขียน Copywriting หรือกำลังมองหาทางออกสำหรับปัญหาค่าแอดโฆษณาแพงอยู่

ข่าวดีคือ ทั้ง 3 เล่มแปลเป็นไทยเรียบร้อยแล้ว การันตีความสนุกในการแปลโดยกระผมเอง

ท่านสามารถสั่งซื้อหนังสือทั้ง 3 เล่มได้ที่ไลน์ @ohmpiang (ใส่ @ ด้วย) โดยบอกทีมงานว่า “ชุดการตลาดสร้างตำนาน”

สำหรับบทความนี้ก็ขอจบเพียงเท่านี้ แล้วพบกันใหม่บทความหน้าครับ

OHMPIANG
ธีระธรณ์

ปล. Comment คุยกันได้นะครับ ว่าได้อะไรจากบทความนี้บ้าง


แชร์ให้คนที่คุณรัก:


>